ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร
เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนในข้อเข่า ซึ่งทำหน้าที่เป็นเบาะรองและช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างกระดูก เมื่อกระดูกอ่อนนี้สึกหรอหรือหมดไป จะทำให้กระดูกในข้อเสียดสีกันโดยตรง นำไปสู่อาการปวด บวม และการเคลื่อนไหวที่จำกัด
สาเหตุของข้อเข่าเสื่อม
-
สาเหตุจากความเสื่อมแบบปฐมภูมิ (primary knee osteoarthritis)
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทก็จะเสื่อมลงตามวัย โดยอายุ 40 ปี เริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 55 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีอาการปวดเข่า เข่าเสื่อม และอายุ 60 ปี จะเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
- เพศ : พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวป้องกันความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า โดยเฉพาะในภาวะหมดประจำเดือนยิ่งทำให้เพศหญิงเกิดข้อเข้าเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ
- กรรมพันธุ์ : จากการศึกษาพบว่า เรื่องของกรรมพันธุ์ก็มีความเกี่ยวข้อง โดยคนไข้ที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงในลักษณะของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- น้ำหนักตัวที่เกิน : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-5 กิโลกรัม อีกทั้งเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะส่งผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกให้เกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น ประกอบกับหากขาดการออกกำลังกาย หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยเร็วขึ้นได้
- การใช้งานที่มากเกินไป : การใช้ขาและหัวเข่าผิดท่า หรืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น ในกลุ่มผู้ที่ต้องยืนนานๆ หรือยกของหนัก ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ การก้มยกของ รวมถึงท่าทางจากกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น
- ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ : เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
-
ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ (secondaryary knee osteoarthritis)
- อุบัติเหตุที่เกิดแรงกระแทก : ในผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บ ประสบอุบัติเหตุที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรืออุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระแทกสูง เช่น ล้มแล้วเข่าบิด มีกระดูกรอบข้อเข่าหัก หรือมีเลือดออกในข้อเข่า สาเหตุเหล่านี้จะส่งผลให้มีอาการปวดหัวเข่า และเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- โรคบางชนิด : เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ ข้อเข่าติดเชื้อ โรคที่เกิดกับอวัยวะนอกข้อเข่า รวมทั้งโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ (inflammatory joint disease)
ข้อสรุป
โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็สามารถชะลอ รวมถึงในปัจจุบันก็มีแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลหลายวิธี ดังนั้นใครที่เริ่มมีความผิดปกติที่ข้อเข่า ควรให้ความสำคัญ และเริ่มดูแลรักษาอาการตั้งแต่เนิ่นๆ ในกรณีที่เริ่มมีอาการเจ็บปวด ใช้ชีวิตลำบาก แนะนำควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมวางแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดความรุนแรง การลุกลาม และลดความเจ็บปวดทรมาน ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้